|
|
|
|
|
Sinc
๑๙/ตค./๔๔ |
|
|
การทำความสะอาดซอกฟัน
โรคปริทันต์ที่รุนแรงมักเกิดบริเวณซอกฟัน
ซึ่งแปรงไม่สามารถเข้าไปทำความสะอาดได้ จึงมักมีผู้ป่วยเป็นโรคปริทันต์
ทั้ง ๆ ที่แปรงฟันอย่างดี แต่มิได้ทำความสะอาดซอกฟัน
การทำความสะอาดซอกฟัน มีหลายวิธีซึ่งต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพเหงือกของแต่ละคน
๑.
การใช้เส้นใยขัดฟัน (Flossing)
เป็นวิธีทำความสะอาดซอกฟันที่ดีวิธีหนึ่ง
โดยเฉพาะเมื่อมีเหงือกปกติโดยมีเหงือกสามเหลี่ยมอยู่เต็มระหว่างซอกฟัน
ไม่มีเหงือกร่น การใช้เส้นใยขัดฟัน ควรใช้อย่างน้อยวันละ ๑ ครั้ง
ชนิดของเส้นใย
มี แบบเคลือบขี้ผึ้ง (Waxed) ซึ่งเหมาะที่ใช้กับฟันที่สัมผัสกันไม่แน่นมาก
และแบบไม่เคลือบขี้ผึ้ง (Unwaxed) เหมาะสำหรับฟันที่สัมผัสกันแน่นมาก
และสำหรับผู้ที่เริ่มใช้ครั้งแรก อย่างไรก็ตามทั้ง ๒ แบบ มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันถ้าใช้อย่างถูกต้อง
การใช้เส้นใยถ้าใช้ไม่ถูกจะทำอันตรายต่อเหงือก ปกติเส้นใยไม่ควรขาดขณะใช้
แต่ถาเส้นใยขาดอยู่เสมอบริเวณใด แสดงว่าฟันที่อุดไว้บริเวณนั้นมีปัญหา
ควรรีบแก้ไข
วิธีใช้เส้นใย
ดึงเส้นใยมายาว ๑๒-๑๕ นิ้ว พันปลายยึดไว้กับนิ้วกลาง ๒ ข้าง จนกระทั่งเหลือความยาวของเส้นใยระหว่างนิ้วกลางทั้งสองประมาณ
๔-๕ นิ้ว ใช้นิ้วชี้หรือนิ้วหัวแม่มือเป็นนิ้วควบคุมบังคับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดในการขัดทำความสะอาดซอกฟันแต่ละตำแหน่งในช่องปาก
เริ่มต้นด้วยการดึงเส้นใยให้ตึงค่อย ๆ ถูไปมาให้ผ่านจุดสัมผัสของฟัน
ห้ามใช้แรงกดผ่านจุดสัมผัสโดยตรง เพราะอาจยั้งมือไม่อยู่และบาดเหงือกได้
เมื่อผ่านจุดสัมผัสเข้าไปอยู่ระหว่างฟันสองซี่แล้ว โอบเส้นใยให้แนบกับด้านข้างของฟันซี่หนึ่ง
ใช้นิ้วบังคับให้เส้นใยขัดจากขอบเหงือกมาด้านบดเคี้ยวแล้วกลับมาวางตั้งต้นที่ขอบเหงือกใหม่
ก่อนที่จะขัดไปทางด้านบดเคี้ยวอีกครั้งหนึ่ง ทำเช่นนี้ซ้ำฟัน ๖ ครั้ง
ระหว่างจัดสัมผัสและขอบเหงือก วัตถุประสงค์ของการที่ให้เส้นใยโอบฟัน
เพื่อให้แรงถ่ายทอดลงบนตัวฟันโดยตรง ไม่ไปบาดเหงือกและเพื่อให้เส้นใยครอบคลุมพื้นที่ได้มาก
เมื่อขัดด้านข้างของฟันซี่หนึ่งเสร็จแล้วจึงหันมาโอบด้านข้างของฟันอีกซี่หนึ่ง
ขัดเหมือนเดิม ๖ ครั้ง ทุก ๆ ซอกฟัน จะต้องขัด ๒ ด้านด้วยกัน ด้านข้างของฟันซึ่งปราศจากซี่ข้างเคียงก็ควรต้องขัดเช่นเดียวกัน
บางคนใช้เครื่องจับเส้นใยสำเร็จ (FlossHolder) แทนการพันนิ้วมือ แต่ผลการใช้ไม่ดีเท่าที่ควร
เนื่องจากไม่สามารถโอบรอบซี่ฟันทำให้บาดเหงือกเป็นร่องได้ การใช้นิ้วมือมีประสิทธิภาพดีกว่ามากถ้าใช้ถูกวิธี
๒.
การใช้เส้นใยขัดฟันพิเศษ (Superfloss)
เส้นใยขัดฟันพิเศษ คือ เส้นใยขัดฟันที่ใช้บริเวณที่ใส่สะพานครอบฟัน
(ฟันครอบชนิดติดแน่น)
วิธีใช้
สอดส่วนปลายที่แข็งผ่านซอกฟันที่ใส่ไว้ แล้วดึงส่วนที่เป็นฟองน้ำมาโอบแนบด้านข้างของฟันที่ครอบโดยใช้นิ้วบังคับขัดจากของเหงือกไปด้านบดเคี้ยว
๖ ครั้ง จากนั้นใช้ฟองน้ำทำความสะอาดใต้สะพานฟันที่ใส่ แล้โอบแนบเพื่อทำความสะอาดซอกฟันที่ครอบอีกซี่หนึ่ง
ส่วนเส้นใยที่เหลือใช้ทำความสะอาดซอกฟันเช่นเดียวกับเส้นใยขัดฟันปกติ
ท่านอาจใช้ห่างพลาสติกคล้องเส้นใยขัดฟัน (Floss Threader) เพื่อทำความสะอาดบริเวณที่ใส่สะพานครอบฟัน
ได้เช่นกัน
๓.
ปุ่มยางนวดเหงือก (Rubber
tip)
นอกจากการใช้เส้นใยขัดฟันในการทำความสะอาดซอกฟันแล้วยังสามารถใช้ปุ่มยางนวดเหงือกได้
ในกรณีที่เหงือกปกติ มีเนื้อเหงือกเต็มระหว่างซอกฟัน
วิธีใช้
วางปุ่มยางนวดเหงือกให้ปลายเฉียงไปทางด้านบดเคี้ยวเบนให้มาแนบด้านหนึ่งของซอกฟัน
แล้วถูมาทางด้านบดเคี้ยว ๓ ครั้ง จากนั้นเบนมาให้แนบชิดกับอีกข้างหนึ่งของซอกฟันเดียวกัน
แล้วถูกมาทางด้านบดเคี้ยวอีก ๓ ครั้ง ทำเช่นเดียวกันนี้ทุกซอกฟันทั้งด้านกระพุ้งแก้มและด้านลิ้น
๔.
แปรงระหว่างซอกฟัน (Proxa Brush, Interdental Brush)
สำหรับผู้ที่มีช่องระหว่างฟัน
คือมีเหงือกสามเหลี่ยมระหว่างซอกฟันร่น หรือไม่มีฟันข้างเคี้ยว หรือด้านหลังของฟันซี่สุดท้าย
สามารถใช้แปรงระหว่างซอกฟัน ซึ่งมี ๒ แบบ คือ Proxa Brush ซึ่งมีด้ามและ
Interdental Brush ไม่มีด้ามยาวจับมีลักษณะคล้ายแปรงล้างขวดขนาดเล็ก
วิธีใช้
สอดแปรงเข้าไประหว่างช่องว่างระหว่างซี่ฟัน จากนั้นวางแปรงบนเหงือกให้แนบด้านหนึ่งของซอกฟัน
แล้วถูเข้าถูออก ประมาณ ๓-๔ ครั้ง แล้วเบนแปรงมาแนบอีกด้านหนึ่งถูเข้าถูออก
๓-๔ ครั้ง ทำเช่นนี้กับซอกฟันที่มีช่องว่างโดยเข้าจากด้านกระพุ้งแก้มและเข้าจากด้านลิ้นด้วย
ถ้าใช้ Proxa Brush จะเข้าได้ทั้ง ๒ ด้าน ส่วน Interdental Brush นั้น
ใช้เข้าจากด้านกระพุ้งแก้มเท่านั้น
๕.
ผ้าก๊อซ (Gauze Strip) ท่านสามารถใช้ผ้าGauze ตัดกว้างประมาณ
๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๑ ฟุต ทำความสะอาดซอกฟันที่ช่องว่างระหว่างฟัน
หรือฟันที่ไม่มีฟันข้างเคียงได้ เช่นกัน โดยมีวิธีใช้เช่นเดียวกับเส้นใยขัดฟัน
๖.
ไม้กระตุ้นเหงือก (Stim-U-Dent)
ไม่จิ้มฟันที่มีขายอยู่ในตลาดทั่วไปนั้น เป็นไม้จิ้มฟันที่ไม่ถูกลักษณะ
ไม่ควรใช้เพราะไม่สามารถทำความสะอาดกำจัดคราบจุลินทรีย์ได้และมักเป็นอันตรายต่อเหงือก
เพราะแข็งเกินไปและมีลักษณะไม่ถูกต้อง ถ้าใช้นาน ๆ และแรง ๆ นอกจากจะทำอันตรายเหงือกแล้ว
จะทำให้ฟันห่างได้ ท่านสามารถใช้ไม้จิ้มฟันเขี่ยเศษอาหารออกเบา ๆ ได้
ไม่ควรใช้แรงแคะหรืองัดเพื่อกำจัดเศษอาหาร ถ้าเศษอาหารติดแน่นระหว่างซอกฟัน
ต้องหาสาเหตุและรีบแก้ไข เช่น ฟันผุซอกฟัน ฟันที่อุดหรือครอบไว้ไม่ดี
เป็นต้น
ไม้ที่ทันตแพทย์แนะนำเพื่อใช้กำจัดคราบจุลินทรีย์ระหว่างซอกฟันและนวดเหงือกนั้น
ควรเป็นรูปสามเหลี่ยม (มองจากด้านตัด) เพื่อให้มีรูปร่างให้เข้าตามช่องว่างระหว่างฟันและเหงือกได้
และควรจะต้องเป็นไม้อ่อน โดยมากทำจากไม้สีดา เรียกไม้ชนิดนี้ว่า ไม้กระตุ้นเหงือก
(Stim-U-Dent)
วิธีใช้
สอดไม่นี้ระหว่างซอกฟันที่มีช่องว่างระหว่างกัน โดยให้ฐานของสามเหลี่ยมอยู่ที่เหงือกและด้านข้างแนบกับด้านหนึ่งของซอกฟันแล้วถูเข้าออก
๔-๕ ครั้ง ทำเช่นนี้ทุกช่องที่มีช่องว่างระหว่างฟัน
๗.
เครื่องฉีดทำความสะอาดในปาก (Oral Irrigating Device)
เป็นเครื่องมือที่ใช้แรงดันของน้ำฉีดเข้าทำความสะอาดซอกฟันกำจัดเศษอาหารซึ่งมักใช้ในผู้ที่ใส่เครื่องมือจัดฟันและใส่ฟันติดแน่น
สิ่งสำคัญที่ควรทำความเข้าใจอย่างยิ่งคือ เครื่องมือนี้
ไม่สามารถใช้แทนการแปรงฟันหรือการใช้เส้นใยขัดฟัน
เพราะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ นอกจากนี้ถ้าแรงดันน้ำสูงเกินไปอาจทำอันตรายต่อเหงือกได้โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคปริทันต์
ผู้ใช้จึงควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกประเภทของเครื่องมือทำความสะอาดซอกฟันที่เหมาะสมและอธิบายวิธีใช้ให้แก่ผู้ป่วยเป็นราย
ๆ ไป
แปรงกระจุกเดียว (Single Tufted
Brush)
เป็นแปรงที่ใช้ในผู้ที่มีฟันเก ฟันล้มเอียง
ด้านในของฟันล่างและใช้ในผู้ที่ใส่เครื่องมือจัดฟัน
วิธีใช้
กวาดขนแปรงไปตามคอฟัน โดยใช้หลังจากการแปรงฟันปกติที่ได้กล่าวแล้ว
เมื่อถึงซอกฟันจึงขยับขนแปรงอยู่กับที่ แล้วปัดไปดานบดเคี้ยว ทำเช่นนี้กับฟันทุกซี่ที่ต้องการ
ในปัจจุบันมีการฝังรากเทียมกันอย่างแพร่หลาย
การทำความสะอาดรอบรากเทียมสามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น
ยกเว้นเครื่องมือมีคมหรือมีส่วนของโลหะที่อาจทำให้เกิดรอยขีดข่วนขนผิววัสดุรากเทียมและกลายเป็นที่สะสมของคราบจุลินทรีย์ได้ง่ายขึ้น
|