Perio-Chula
ภาควิชาปริทันตวิทยา
รายการ
ประวัติภาควิชา
อาจารย์และบุคลากร
หลักสูตร
กระดาน ถาม-ตอบ
ความรู้เรื่องเหงือกและฟัน
Links
 
 
 
 
 

Sinc ๑๙/ตค./๔๔

สาเหตุที่สำคัญของโรคปริทันต์ คือ
คราบจุลินทรีย์ (Bacterial Plaque)

    คราบจุลินทรีย คือ คราบสีขาวขุ่นนิ่มที่ประกอบด้วยเชื้อโรคติดอยู่บนตัวฟัน ซึ่งแม้ว่าจะบ้วนน้ำก็ไม่สามารถหลุดออกได้ ขบวนการเกิดคราบจุลินทรีย์เริ่มต้นหลังจากที่แปรงฟันแล้วเพียง ๒-๓ นาที โดยจะมีเมือกใสของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน จากนั้นเชื้อโรคที่มีอยู่มากมายในปากจะมาเกาะทับถมกันมาก ๆ เข้าเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ คราบจุลินทรีย์นี้เองที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคฟันผุและโรคปริทันตเมื่อรับประทานอาหารเข้าไป คราบจุลินทรีย์นี้จะใช้น้ำตาลจากอาหารสร้าง กรด และสารพิษ


    กรด จะทำลายเคลือบฟันทำให้ ฟันผุ
    สารพิษ จะทำให้เหงือกอักเสบเกิด โรคปริทันต์
ถ้าไม่กำจัดคราบจุลินทรีย์ โดยการทำความสะอาดฟันและเหงือกอย่างดีทุกวัน คราบนี้จะเพิ่มมากขึ้น และทำอันตรายต่อฟันและเหงือก มักพบคราบจุลินทรีย์มากโดยเฉพาะที่คอฟัน บริเวณขอบเหงือกและซอกฟัน สามารถใช้สีย้อมให้เห็นคราบได้ชัดเจน แต่ในรายที่คราบหนามาก ๆ สามารถจะเห็นและรู้สึกเมื่อใช้ลิ้นสัมผัสไปตามฟัน
    หินปูนหรือหินน้ำลาย คือคราบจุลินทรีย์ที่แข็งเนื่องจากมีธาตุแคลเซี่ยมจากน้ำตาลเข้าไปตกตะกอน อย่างไรก็ตามบนพื้นผิวของหินปูนยังมีคราบจุลินทรีย์ปกคลุมอยู่ ฉะนั้นหินปูนที่มีคราบจุลินทรีย์ปกคลุมจึงเป็นสาเหตุของโรคปริทันต์ได้ หินปูนที่โผล่พ้นขอบเหงือกจะมองเห็นได้ แต่หินปูนที่อยู่ในร่องเหงือกจะมองไม่เห็น โดยเหตุที่คราบจุลินทรีย์จะค่อย ๆ แข็งตัว ดังนั้นจึงควรกำจัดคราบจุลินทรีย์เสียก่อนที่จะแข็งเป็นหินปูน เพราะวิธีทำความสะอาดฟันด้วยตนเองนั้นไม่สามารถกำจัดหินปูนออกได้ ทันตแพทย์เท่านั้นที่สามารถกำจัดหินปูนออกได้
    อย่าลืมว่า "ท่านสามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์เหนียว ๆ ออกจากฟันไดด้วยตนเอง"
   แต่ "ท่านไม่สามารถเอาหินปูนออกเองได้ หรือเอาคราบจุลินทรีย์ที่ยึดติดอยู่บนหินปูนใต้เหงือกออกได้"

สาเหตุร่วมที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์
    ๑. การมีเศษอาหารติดแน่นหรือค้างตามซอกฟัน และตัวฟัน เนื่องจาก
      ๑.๑ ฟันสัมผัสกันผิดปกติ เช่น หลวมเกินไปหรือเว้นช่องว่างไม่พอดี
      ๑.๒ ฟันเก
      ๑.๓ ฟันไม่อยู่ในระดับเดียวกัน เช่น ถอนฟันไปแล้วไม่ได้ใส่
ทำให้ฟันบนตรงข้ามยื่นยาวลงมา ดังนั้นระดับของฟันที่ยื่นลงมากับฟันข้างเคียง จึงไม่อยู่ในระดับเดียวกัน จากสาเหตุ ข้อ ๑.๑ - ๑.๓ นั้น เมื่อรับประทานอาหารจึงมักมีเศษอาหารติดแน่นตามซอกฟัน โดยมีแรงอัดเข้าซอกฟันกดบนเหงือกทำให้เหงือกอักเสบและเกิดเป็นโรคปริทันต์ได้
    ๒. การมีขอบวัสดุอุดฟันเกินออกมา ทำให้เป็นที่สะสมของคราบจุลินทรีย์ และขัดขวางการทำความสะอาด เช่น ทำให้เส้นใยไนล่อนขาดระหว่างการทำความสะอาดซอกฟัน
    ๓. การมีฟันปลอมที่หลวมหรือแน่นเกินไป หรือไม่ถูกต้อง เช่น การมีเหงือกอักเสบใต้ฟันปลอมที่หลวม
    ๔. สาเหตุร่วมทางร่างกายที่ทำให้โรคปริทันต์เป็นรุนแรงขึ้น เช่นระยะวัยรุ่น ระยะตั้งครรภ์ และหมดประจำเดือน ซึ่งมีระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไป ผู้ที่อยู่ในวัยดังกล่าว ถ้ามีสภาพเหงือกที่แข็งแรงอยู่แล้ว จะไม่เป็นโรคปริทันต์ แต่ถ้ามีการอักเสบของเหงือกอยู่จะทำให้เป็นมากขึ้นกว่าปกติ
    ๕. สาเหตุร่วมทางร่างกายอื่น ๆ อาจเกิดจากการขาดอาหารบางชนิด โรคทางด้านจิตใจ โรคลมบ้าหมู ซึ่งผู้ป่วยรับประทานยาพวก Dilantin (มีแนวโน้มทำให้เหงือกโตขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรักษาความสะอาดไม่ดี) โรคเลือดต่าง ๆ รวมทั้งผู้ที่ร่างกายมีความต้านทานและการซ่อมแซมต่ำ เป็นต้น

e-mail beuver24@yahoo.com Phone: ๐๒- ๒๑๘-๘๘๔๙ , ๐๒-๒๑๘-๘๘๕๐
Copyright ©Copyright ๒๕๔๔ Perio-Chula .cjb.net , All right reserved. Designed by Designed by ai_rit@BongZ.cjb.net , Pirote and Manop