Perio-Chula
ภาควิชาปริทันตวิทยา
รายการ
ประวัติภาควิชา
อาจารย์และบุคลากร
หลักสูตร
กระดาน ถาม-ตอบ
ความรู้เรื่องเหงือกและฟัน
Links
 
 
 
 
 

Sinc ๑๙/ตค./๔๔
มาทำความรู้จักกับฟัน    
        และเหงือกก่อน ดีไหม !

    การดำรงชีวิตของมนุษย์ต้องอาศัยปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งในการรับประทานอาหารนั้น ฟันนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากฟันทำหน้าที่จับหรือฉีก อาหาร บดเคี้ยวอาหาร และเป็นส่วนประกอบเพื่อความสวยงามของใบหน้าและใช้ในการพูด
มนุษย์มีฟันอยู่ ๒ ชุด
    ๑. ฟันน้ำนม เป็นฟันชุดแรก มี ๒๐ ซี่ แบ่งเป็นฟันบน ๑๐ ซี่ และฟันล่าง ๑๐ ซี่ เริ่มเห็นฟันซี่แรก ในปากเมื่อเด็กอายุ ๖ เดือน และจะขึ้นครบเต็มปากเมื่ออายุประมาณ ๒ ๑/๒ ขวบ ฟันน้ำนม ๒๐ ซี่นี้
ประกอบด้วยฟันหน้า ๘ ซี่ ฟันเขี้ยว ๔ ซี่ ฟันกราม ๘ ซี่

ระยะการขึ้นและหลุดของฟันน้ำนม          

ฟันบน
ขึ้น หลุด
ฟันหน้าซี่กลาง ๗ ๑/๒ เดือน ๗ - ๘ ปี
ฟันหน้าซี่ข้าง ๙ เดือน ๘ - ๙ ปี
ฟันเขี้ยว ๑๘ เดือน ๑๑ - ๑๒ ปี
ฟันกรามซี่ที่ ๑ ๑๔ เดือน ๑๐ - ๑๑ ปี
ฟันกรามซี่ที่ ๒ ๒๔ เดือน ๑๐ - ๑๒ ปี
ฟันล่าง ขึ้น หลุด
ฟันหน้าซี่กลาง ๖ เดือน ๖ - ๗ ปี
ฟันหน้าซี่ข้าง ๗ เดือน ๗ - ๘ ปี
ฟันเขี้ยว ๑๖ เดือน ๙ - ๑๐ ปี
ฟันกรามซี่ที่ ๑ ๑๒ เดือน ๑๐ - ๑๒ ปี
ฟันกรามซี่ที่ ๒ ๒๐ เดือน ๑๑ - ๑๒ ปี


    ๒. ฟันถาวร (ฟันแท้) เป็นฟันชุดสุดท้ายมี ๓๒ ซี่ แบ่งเป็นฟันบน ๑๖ ซี่ และฟันล่าง ๑๖ ซี่ ฟันชุดนี้ มีฟันหน้า ๘ ซี่ ฟันเขี้ยว ๔ ซี่ ฟันกรามน้อย ๘ ซี่ ฟันกราม ๑๒ ซี่ ฟันแท้ซี่แรกเป็นฟันกราม ขึ้นเมื่ออายุ ๖ ปี ส่วนฟันกรามซี่สุดท้ายอาจขึ้นเร็วหรือช้า ง่ายหรือยากได้ต่าง ๆ กัน มีระยะเวลาการขึ้นจนกว่าจะเต็มซี่ ตั้งแต่อายุ ๑๘ - ๓๐ ปี


ระยะการขึ้นของฟันถาวร        

ฟันบน ขึ้น
ฟันหน้าซี่กลาง ๗ - ๘ ปี
ฟันหน้าซี่ข้าง ๘ - ๙ ปี
ฟันเขี้ยว ๑๑ - ๑๒ ปี
ฟันกรามน้อยซี่ที่ ๑ ๑๐ - ๑๑ ปี
ฟันกรามน้อยซี่ที่ ๒ ๑๐ - ๑๒ ปี
ฟันกรามซี่ที่ ๑ ๖ - ๗ ปี
ฟันกรามซี่ที่ ๒ ๑๒ - ๑๓ ปี
ฟันกรามซี่ที่ ๓ ๑๗ - ๒๑ ปี
ฟันล่าง ขึ้น
ฟันหน้าซี่กลาง ๖ - ๗ ปี
ฟันหน้าซี่ข้าง ๗ - ๘ ปี
ฟันเขี้ยว ๙ - ๑๐ ปี
ฟันกรามน้อยซี่ที่ ๑ ๑๐ - ๑๒ ปี
ฟันกรามน้อยซี่ที่ ๒ ๑๑ - ๑๒ ปี
ฟันกรามซี่ที่ ๑ ๖ - ๗ ปี
ฟันกรามซี่ที่ ๒ ๑๑ - ๑๓ ปี
ฟันกรามซี่ที่ ๓ ๑๗ - ๒๑ ปี


    ฟัน           
    ฟันแต่ละซี่แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ ตัวฟัน (Crown) และรากฟัน (Root)
    ๑. ตัวฟัน คือ ส่วนที่สามารถมองเห็นได้ในปาก ซึ่งโผล่พ้นจากกระดูกขากรรไกรที่ฟันฝังตัวอยู่
    ๒. รากฟัน คือ ส่วนที่มองไม่เห็น เนื่องจากฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรและยังถูกคลุมทับด้วยเหงือกอีกด้วย ฟันบางซี่ที่ ๑ ราก เช่น ฟันหน้า และบางซี่มี ๒ หรือ ๓ ราก เช่น ฟันกราม
    บริเวณที่ตัวฟันพบกับรากฟันเรียก คอฟัน

    ๑. ตัวฟัน (Crown) ประกอบด้วย
    ๑.๑ เคลือบฟัน (Enamel)
    เป็นส่วนชั้นนอกที่สุดที่ปกคลุมตลอดส่วนตัวฟันไปถึงคอฟัน เคลือบฟันนี้แข็งที่สุดในร่างกายทำหน้าที่ป้องกันเนื้อฟัน เคลือบฟันมีสีขาวอมเหลืองจนถึงขาวอมเทา และมีลักษณะโปร่งแสง ฉะนั้น การที่คนเรามีฟันขาวหรือเหลืองกว่ากัน เนื่องจากมีเคลือบฟันบางกว่าและโปร่งแสงของเคลือบฟันมากน้อยต่างกัน บางคนฟันเหลืองกว่าอีกคน เนื่องจากมีเคลือบฟันบางกว่าและโปร่งแสงมากกว่า จึงทำให้เห็นส่วนเนื้อฟันชั้นใน (Dentin) ซึ่งมีสีเหลืองได้ชัดเจนกว่าอีกคน
    ๑.๒ เนื้อฟัน (Dentin)
    มีสีเหลืองอยู่ใต้เคลือบฟัน มีตลอดทั้งส่วนตัวและรากฟัน เป็นเนื้อเยื่อชั้นกลางของฟัน ซึ่งมีการสร้างเนื้อฟันเพิ่มขึ้นได้ตลอดชีวิต ซึ่งต่างกับเคลือบฟันที่ไม่สามารถสร้างเพิ่มได้
    ๑.๓ โพรงประสาทฟัน (Pulp Cavity)
    เป็นช่องหรือโพรงอยู่ใจกลางตัวฟัน ช่องนี้ติดต่อกับคลองรากฟันด้วย โพรงประสาทฟันเป็นที่อยู่ของเนื้อเยื่อที่อยู่กันหลวม ๆ ประกอบด้วย เส้นเลือดที่มาเลี้ยงฟัน เส้นประสาทที่มาสู่ฟันและเซลล์ที่สร้างเนื้อฟันรวมทั้งหลอดน้ำเหลือง โพรงประสาทฟันทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากภายนอก และมี เนื้อเยื่อให้อาหารและความรู้สึกแก่เนื้อฟัน ซึ่งถ้ามีอันตรายจากภายนอกจะเป็นผลให้เกิดอาการปวดหรือเสียวฟันได้


    ๒. รากฟัน (Root) ประกอบด้วย
    ๒.๑ เคลือบรากฟัน (Cementum) มีสีเหลืองอ่อนเป็นส่วนชั้นนอกสุดของรากฟัน หุ้มรากฟันไว้ ไม่ได้ทำหน้าที่ป้องกัน แต่ทำหน้าที่เป็นที่ยึดของเอ็นปริทันต์ให้รากฟันติดกับกระดูก เคลือบรากฟันนี้ จึงอ่อนกว่าเคลือบฟัน (Enamel)
    ๒.๒ เนื้อฟัน (Dentin) เหมือนกับเนื้อฟันซึ่งเป็นชั้นกลาง ในส่วนตัวฟัน อยู่ถัดจากเคลือบรากฟัน
    ๒.๓ โพรงรากฟัน เรียก คลองรากฟัน (Root Canal) อยู่ใจกลางรากฟัน และติดต่อกับโพรง ประสาทฟัน ตรงปลายรากฟันจะเป็นรูเปิดให้คลองรากฟันติดต่อกับเนื้อเยื่อภายนอก รูเปิดนี้เป็นทางผ่านเส้นเลือด เส้นประสาท และหลอดน้ำเหลือง ซึ่งแยกมาจากร่างกายส่วนขากรรไกรและใบหน้า เส้นเลือดดำจะไปต่อกับเส้นเลือดดำใหญ่ภายนอกทำให้เลือดจากภายในฟันเข้าสู่วงจรโลหิตติดต่อกันทั่วร่างกาย ฉะนั้นถ้ามีฟันผุลึกถึงคลองรากฟันจะมีโอกาสให้เชื้อโรคกระจายไปสู่อวัยวะสำคัญได้ เช่น สมอง หัวใจ และไต เป็นต้น

e-mail beuver24@yahoo.com Phone: ๐๒- ๒๑๘-๘๘๔๙ , ๐๒-๒๑๘-๘๘๕๐
Copyright ©Copyright ๒๕๔๔ Perio-Chula .cjb.net , All right reserved. Designed by Designed by ai_rit@BongZ.cjb.net , Pirote and Manop