การประเมินวิธีจัดสรรการเรียนการสอนต่อการปฏิบัติงานคลินิกปริทันตวิทยาของนิสิตทันตเเพทย์

การปรับปรุงหลักสูตรทันตเเพทยศาสตร์บัณฑิต โดยให้นิสิตฝึกปฏิบัติการงานคลินิกใน 3 ชั้นปี สุดท้าย นิสิตปีที่ 6 ได้รับผลกระทบจากการจัดสรรเวลามากกว่านิสิตปีที่ 5 เเละ 4 เพราะถูกกำหนดให้ปฏิบัติงานคลินิกปริทันตวิทยาเฉพาะวันอังคารเเละวันพฤหัสบดี เพียงครึ่งปีการศึกษา นิสิตส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยทุกคนที่อยู่ในความดูเเลให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ประมาณร้อยละ 50 อีกทั้งจำนวนผู้ใช้บริการทันตกรรมลดลง ผู้ป่วยผิดนัด เเละมาสายเพิ่มขึ้นตามเศรษฐภาวะ ดังนั้น คณะทันตเเพทยศาสตร์เเละภาควิชาปริทันตวิทยาควรหาทางเเก้ไขวิธีจัดสรรการเรียนการสอน เพิ่มการประชาสัมพันธ์ เเละจัดหาผู้ป่วยใหม่ ให้นิสิตทุกคนได้ปฏิบัติงานคลินิก เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา และทักษะการบำบัดรักษาโรคปริทันต์

การศึกษาเปรียบเทียบผลของหัวขูดอุลตราโซนิกต่างชนิดในแบบจำลองกระดูกขากรรไกรเพื่อประยุกต์ใช้ในงานทันตสาธารณสุขมูลฐาน

กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นนิสิตทันตแพทยศาสตร์ชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 6 แบ่งเป็นนิสิตชาย 15 คน และนิสิตหญิง 15 คน ต่อชั้นปี โดยการขูดหินน้ำลายเทียมใต้เหงือกในฟัน 2 จตุรภาค คือ ฟันบนและฟันล่างด้านซ้ายในแบบจำลองกระดูกขากรรไกร ภายในเวลา 40 นาที หินน้ำลายเทียมมีความกว้าง 1-4 มิลลิเมตร โดยแถบขี้ผึ้งสีแดงอยู่แนวรอยต่อเคลือบฟันและเคลือบรากฟัน และขี้ผึ้งสีน้ำเงินอยู่ห่างจากขอบกระดูกเบ้าฟัน 0.5 มิลลิเมตร ซึ่งแทนลักษณะของผิวรากฟัน และเยื่อบุผิวเชื่อมต่อของเหงือกตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาซึ่งมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือมากกว่า (นิสิตชั้นปีที่ 6) ใช้หัวขูดแต่ละชนิดขูดหินน้ำลายได้สะอาดกว่า และขูดแถบขี้ผึ้งสีแดงและขี้ผึ้งสีน้ำเงินน้อยกว่า กลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยใช้เครื่องมือ (นิสิตชั้นปีที่ 3) โดยทดสอบเป็นค่าร้อยละ เมื่อวิเคราะห์หาความแตกต่างของคะแนนหินน้ำลายเทียมใต้เหงือกที่เหลือ ระหว่างหัวขูดแต่ละชนิด ด้วยการทดสอบของแมนวิทนีย์ พบว่าผู้ที่ชำนาญการใช้เครื่องมือมากกว่า สามารถใช้หัวขูดไพซอนในการขูดหินน้ำลาย ได้สะอาดแตกต่างจากหัวขูดอีก 2 ชนิด (p<0.0000) แต่หัวขูดไพซอน ขูดแถบขี้ผึ้งสีแดงและขี้ผึ้งสีน้ำเงินออกจำนวนมากกว่าหัวขูดคาวิตรอน พี 10 และหัวขูดคาวิตรอน อีดับบลิวพีพี เมื่อทดสอบด้วยค่าไคสแควร์ (p<0.0000) ส่วนผู้ที่ไม่เคยใช้เครื่องมือจะใช้หัวขูดคาวิตรอน พี 10 ขูดหินน้ำลายเทียมใต้เหงือก ได้สะอาดแตกต่างจากหัวขูดอีก 2 ชนิด (p<0.0000) แต่ไม่พบความแตกต่างในการขูดแถบขี้ผึ้งสีแดงและขี้ผึ้งสีน้ำเงินระหว่างหัวขูดทั้ง 3 ชนิด ด้วยการทดสอบของแมนวิทนีย์ และค่าไคสแควร์เช่นเดียวกัน (p>0.0000) งานวิจัยนี้ สรุปผลว่า หัวขูดคาวิตรอน พี 10เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีความชำนาญหรือขาดประสบการณ์ เช่นเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขประจำบลในงานทันตกรรมสาธารณสุขมูลฐาน

ผลของหัวขูดอุลตราโซนิก 3 ชนิด สำหรับกำจัดหินน้ำลายเทียมใต้เหงือก

การศึกษาถึงผลของหัวขูดอุลตราโซนิก 3 ชนิดสำหรับกำจัดหินน้ำลายเทียมใต้เหงือกในแบบจำลองกระดูก ขากรรไกร โดยนิสิตทันตแพทยศาสตร์ชั้นปีที่ 3 จำนวน 30 คน (เพศชาย 15 คน และเพศหญิง 15 คน) ผู้ทำการศึกษาทั้งสอง ได้ตรวจนับคะแนนหินน้ำลายใต้เหงือก ที่เหลืออยู่บนผิวรากฟันพลาสติก และความถี่ของแถบขี้ผึ้งสีแดงและขี้ผึ้งสีน้ำเงินซึ่งแทนลักษณะของพื้นผิวรากฟันและเยื่อบุผิวเชื่อมต่อของเหงือก ที่ถูกขูดออก ด้วยหัวขูดแต่ละชนิดโดยอิสระจากกัน เมื่อวิเคราะห์หาความแตกต่างของคะแนนหินน้ำลายเทียมใต้เหงือกที่เหลือ ระหว่างเครื่องมือแต่ละคู่ด้วยการทดสอบของแมนวิทนีย์ แสดงถึงหัวขูดคาวิตรอน พี 10 ขูดหินน้ำลายเทียมใต้เหงือกสะอาดแตกต่างจากหัวขูดคาวิตรอน อีดับบลิวพีพี และหัวขูดไพซอน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 (p<0.05) เมื่อทดสอบเป็นค่าร้อยละ แสดงถึงหัวขูดคาวิตรอน พี 10 ขูดหินน้ำลายเทียมใต้เหงือกสะอาดกว่าหัวขูดคาวิตรอน อีดับบลิวพีพี และหัวขูดไพซอน เมื่อทดสอบด้วยค่าไคสแควร์ และร้อยละของความถี่ของแถบขี้ผึ้งสีแดงและขี้ผึ้งสีน้ำเงินที่ถูกขูดออกด้วย หัวขูดแต่ละชนิด แสดงว่าหัวขูดคาวิตรอน พี 10 ขูดแถบขี้ผึ้งสีแดงออกมากใกล้เคียงกับหัวขูดคาวิตรอน อีดับบลิวพีพี (p>0.05) แต่หัวขูด คาวิตรอน พี 10 ขูดแถบขี้ผึ้งสีแดงออกมากกว่าหัวขูดไพซอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 (p<0.05) และหัวขูดอุลตราโซนิกแต่ละชนิดขูดแถบขี้ผึ้งสีน้ำเงินออกมากเท่า ๆ กัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 (p>0.05) นอกจากนี้ นิสิตชายใช้หัวขูดแต่ละชนิดขูดหินน้ำลายเทียมใต้เหงือกได้สะอาดกว่า รวมทั้งขูดขี้ผึ้งสีแดง และขูดขี้ผึ้งสี น้ำเงินออกมากว่านิสิตหญิง นิสิตทั้งชั้นปีใช้หัวขูดแต่ละชนิด ขูดหินน้ำลายเทียมใต้เหงือกในฟันหน้าสะอาดกว่าในฟันกรามน้อย และฟันกราม รวมทั้งด้านใกล้แก้มของฟันสะอาดกว่าด้านใกล้ลิ้น ด้านใกล้กลาง และด้านไกลกลางของฟันตามลำดับ โดยขี้ผึ้งสีแดงและขี้ผึ้งสีน้ำเงินออกเป็นจำนวนมากกว่าตาม กลุ่มของฟัน และด้านของฟัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (p<0.05) เช่นเดียวกัน

การเปรียบเทียบประสิทธิผลของหัวขูดหินน้ำลายสำหรับเครื่องอัลทราโซนิกส์ระหว่างชนิดคล้ายเครื่องมือตรวจปริทันต์และชนิดปลายโค้งในการกำจัดหินน้ำลายใต้เหงือก

การวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของหัวขูดหินน้ำลายสำหรับเครื่องอัลทราโซนิกส์ชนิดคล้ายเครื่องมือตรวจปริทันต์และชนิดปลายโค้ง ในการกำจัดหินน้ำลายใต้เหงือกของผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบ โดยขูดหินน้ำลายเฉพาะด้านใกล้กลางและด้านไกลกลาง ในฟันรากเดียวที่ได้รับการวางแผนการรักษาว่าจะถูกถอนจำนวน 51 ซี่ กำหนดให้ด้านทั้งสองของฟันแต่ละซี่มีดัชนีหินน้ำลายและความลึกของพ็อกเก็ตที่หยั่งได้เท่ากัน สุ่มตัวอย่างแต่ละด้านของฟันซี่หนึ่งๆเพื่อเลือกใช้หัวขูดหินน้ำลายสำหรับเครื่องอัลทราโซนิกส์ชนิดคล้ายเครื่องมือตรวจปริทันต์ หรือชนิดปลายโค้ง การขูด หินน้ำลายจะทำจนกระทั่งผิวฟันเรียบและสะอาดเมื่อตรวจด้วยเอ็กซพลอเรอร์ จากนั้นถอนฟันออกมา แล้วนำมาประเมินประสิทธิผลของเครื่องมือในการกำจัดหินน้ำลายใต้เหงือกโดยอาศัยกล้องจุลทรรศน์สเตอริโอในการพิจารณาปริมาณของหินน้ำลายที่หลงเหลืออยู่บนผิวรากฟัน จากตัวอย่างฟันทั้งหมด แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ใช้หัวขูด หินน้ำลายสำหรับเครื่องอัลทราโซนิกส์ชนิดคล้ายเครื่องมือตรวจปริทันต์ และกลุ่มที่ใช้หัวขูดหินน้ำลายสำหรับเครื่อง อัลทราโซนิกส์ชนิดปลายโค้ง กลุ่มละ 51 ด้าน ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังจากการใช้หัวขูดหินน้ำลายสำหรับเครื่อง อัลทราโซนิกส์ชนิดคล้ายเครื่องมือตรวจปริทันต์ พบหินน้ำลายหลงเหลืออยู่ร้อยละ 33.3 ของจำนวนด้านทั้งหมดซึ่งมากกว่าการใช้หัวขูดหินน้ำลายสำหรับเครื่องอัลทราโซนิกส์ชนิดปลายโค้ง ซึ่งพบร้อยละ 23.5 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามดัชนีหินน้ำลายและตามระดับความลึกของพ็อกเก็ต 3-5 มิลลิเมตร และ 6-10 มิลลิเมตร พบว่า จำนวนด้านที่พบหินน้ำลายหลงเหลืออยู่ของทั้งสองกลุ่มทดลองนั้นใกล้เคียงกัน นอกจากนี้เมื่อพิจารณาปริมาณของหินน้ำลายที่หลงเหลืออยู่ของทั้งสองกลุ่ม ก็ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) โดยส่วนใหญ่ พบว่าปริมาณของหินน้ำลายที่หลงเหลืออยู่เป็นเพียงพื้นที่ขนาดเล็ก คือ ประมาณร้อยละ 0.1-5.0 ของ พื้นที่ผิวรากฟัน จากผลการวิจัยสรุปว่า หัวขูดหินน้ำลายสำหรับเครื่องอัลทราโซนิกส์ชนิดคล้ายเครื่องมือตรวจปริทันต์มีประสิทธิผลในการกำจัดหินน้ำลายใต้เหงือกไม่แตกต่างจากหัวขูดหินน้ำลายสำหรับเครื่องอัลทราโซนิกส์ชนิดปลายโค้ง

การฉีดล้างภายในพ็อกเก็ตด้วยสารละลายเตตราซัยคลินไฮโดรคลอไรด์ ตอนที่ 1: ผลทางคลินิก

การศึกษานี้ได้ประเมินผลทางคลินิก หลังการใช้สารละลายเตตราซัยคลินไฮโดรคลอไรด์ ฉีดล้างภายในพ็อกเก็ต เสริมกับขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันใต้เหงือก ในผู้ป่วยปริทันต์อักเสบผู้ใหญ่ จำนวน 45 คน แบ่งเป็นเพศชาย 19 คน เพศหญิง 26 คน และอายุเฉลี่ยประมาณ 47 ปี ตำแหน่งทดลองในช่องปากของผู้ป่วยแต่ละรายแบ่งเป็น 4 ตำแหน่ง คือตำแหน่งทดลอง 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันใต้เหงือก แล้วใช้สารละลายเตตราซัยคลินไฮโดรคลอ-ไรด์ ที่มีความเข้มข้น 100 ม.ก./ม.ล. (หรือกลุ่ม TC10) และความเข้มข้น 500 ม.ก./ม.ล. (หรือกลุ่ม TC5) ส่วนตำแหน่งควบคุม คือกลุ่มขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันใต้เหงือก (หรือกลุ่ม SRP) และกลุ่มขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันใต้เหงือก แล้วใช้สารละลายสีผสมอาหารทาร์ทราซินที่มีความเข้มข้น 0.4 ม.ก./ม.ล. (หรือกลุ่ม Veh) ผลต่างของค่าการยึดตัวของอวัยวะปริทันต์และความลึกของพ็อกเก็ต ได้ทดสอบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม ด้วยวิธี General Linear Model สถิติ Repeated measures analysis of variance และทดสอบความแตกต่างระหว่างกลุ่มเป็นคู่ ๆ ด้วย Scheffe test ผลการวิเคราะห์สรุปว่า ค่าการยึดตัวของอวัยวะปริทันต์ระหว่างกลุ่ม ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนความแตกต่างภายในกลุ่มผลต่างของค่าการยึดตัวของอวัยวะปริทันต์ในสัปดาห์ที่ 14 ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ 0 มีเฉพาะกลุ่ม TC10 และกลุ่ม TC5 แต่ในสัปดาห์ที่ 28 ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ 0 ของทั้ง 4 กลุ่ม พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) สำหรับค่าความลึกของพ็อกเก็ต พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่ม TC10 และกลุ่ม SRP และ TC10 และกลุ่ม Veh ในสัปดาห์ที่ 28 ส่วนการเปลี่ยนแปลงภายในกลุ่มของทุกกลุ่ม ในสัปดาห์ที่ 14 และสัปดาห์ 28 ซึ่งแตกต่างจากสัปดาห์ 0 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) หลังจากการทดสอบด้วย paired t-test กรณีค่าของอาการเลือดออก ได้ใช้ Friedman statistics ทดสอบและไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนการเปลี่ยนแปลงภายในกลุ่มใช้ Wilcoxon signed rank test ทดสอบและพบการเปลี่ยนแปลงภายในกลุ่ม ทั้ง 4 กลุ่ม ในสัปดาห์ที่ 14 และสัปดาห์ 28 ซึ่งแตกต่างจากสัปดาห์ 0 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) การศึกษานี้สรุปผลว่า การใช้สารละลายเตตราซัยคลินไฮโดรคลอไรด์ฉีดล้างภายในพ็อกเก็ตเสริมกับการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันใต้เหงือก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวม 4 ครั้ง แล้วเว้นระยะเวลาทดลอง 10 สัปดาห์ รวมเวลาทดลองทั้งสิ้น 28 สัปดาห์ ให้ผลทางคลินิกเกี่ยวกับการเพิ่มการยึดตัวของอวัยวะปริทันต์ ลดความลึกของพ็อกเก็ต และลดอาการเลือดออก มากกว่าการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันใต้เหงือกอย่างเดียว หรือใช้สารละลายสีผสมอาหาร ร่วมกับการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันใต้เหงือก

การฉีดล้างภายในพ็อกเก็ตด้วยสารละลายเตตราซัยคลินไฮโดรคลอไรด์ ตอนที่ 2: ผลทางจุลชีววิทยา

การศึกษานี้ได้ประเมินผลทางจุลชีววิทยา หลังการใช้สารละลายเตตราซัยคลินไฮโดรคลอไรด์ ฉีดล้างภายใน พ็อกเก็ต เสริมกับขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันใต้เหงือก ในผู้ป่วยปริทันต์อักเสบผู้ใหญ่ กลุ่มตัวอย่างมี 45 คน แบ่งเป็นเพศชาย 19 คน เพศหญิง 26 คน และอายุเฉลี่ยประมาณ 47 ปี ตำแหน่งทดลองแบ่งออกเป็น 4 ตำแหน่ง เช่นเดียวกับตอนที่ 1 จำนวนนับของเชื้อแบคทีเรียใต้เหงือกคำนวณค่าด้วย log10 ก่อนนำไปวิเคราะห์ผล ด้วยสถิติ nonparametric Kruskal-Wallis analysis of variance เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม ของจำนวนเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆ และทดสอบความแตกต่างของการลำดับค่าระหว่างกลุ่มทดลองเป็นคู่ ด้วย Mann-Whitney U test และใช้ Wilcoxon signed-rank test ทดสอบความแตกต่างภายในกลุ่ม ผลการวิเคราะห์ระหว่างกลุ่ม พบว่า เชื้อทรงกลมของกลุ่ม TC5 แตกต่างกับกลุ่ม SRP อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในสัปดาห์ที่ 14 และสัปดาห์ที่ 28 และเชื้อทรงกลมของกลุ่ม TC10 แตกต่างกับกลุ่ม Veh อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในสัปดาห์ที่ 14 เท่านั้น สำหรับเชื้อทรงแท่งเคลื่อนที่ของกลุ่ม TC10 แตกต่างกับกลุ่ม Veh อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในสัปดาห์ที่ 14 และสัปดาห์ที่ 28 ส่วนเชื้อสไปโรคีตส์ของกลุ่ม TC10 แตกต่างกับกลุ่ม Veh อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในสัปดาห์ที่ 14 สำหรับผลการวิเคราะภายในกลุ่ม แสดงถึงผลต่างของเชื้อทรงกลมเพิ่มจำนวน และเชื้อสไปโรคีตส์ลดจำนวนลงของการทดสอบภายในกลุ่มทั้ง 4 กลุ่ม ในสัปดาห์ที่ 14 และสัปดาห์ 28 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ 0 เช่นเดียวกับเชื้อทรงแท่งซึ่งไม่เคลื่อนที่ของกลุ่ม TC5 และกลุ่ม Veh แตกต่างภายในกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)การศึกษานี้สรุปผลทางจุลชีววิทยาว่า ว่า ใช้สารละลายเตตราซัยคลินไฮโดรคลอไรด์ฉีดล้างภายในพ็อกเก็ตเสริมกับการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันใต้เหงือก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวม 4 ครั้ง แล้วเว้นระยะเวลาทดลอง 10 สัปดาห์ รวม28 สัปดาห์ พบว่าปริมาณของเชื้อทรงกลม และเชื้อทรงแท่งซึ่งไม่เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณของเชื้อทรงแท่งเคลื่อนที่ และเชื้อสไปโรคีตส์ ลดจำนวนมากกว่าการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันอย่างเดียว

ความสัมพันธ์ระหว่างความลืกของพ็อกเก็ตเเละปริมาณของเชื้อจุลชีพหลังจากใช้เตตราซัยคลินไฮโดรคลอไรด์ฉีดล้างภายในพ็อกเก็ตในช่างเวลา 56 สัปดาห

งานวิจัยนี้ได้ใช้เวลา 56 สัปดาห์ เพื่อศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างความลึกของพ็อกเก็ตเเละปริมาณของเชื้อจุลชีพ หลังจากใช้สารละลายเตตราไซคลินไฮโดรคลอไรด์ ฉีดล้างภายในพ็อกเก็ต เสริมกับการขูดหินน้ำลายเเละเกลารากฟันใต้เหงือก ของผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบในผู้ใหญ่ กลุ่มตัวอย่างมี 38 คน เเบ่งเป็นเพศชาย 17 คน เพศหญิง 21 คน เเละอายุเฉลี่ยประมาณ 47 ปี ตำเเหน่งทดลองคือด้านประชิดของฟัน เเละเเบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้เเก่กลุ่มทดลองมี 2 กลุ่ม คีอกลุ่มขูดหินน้ำลายเเละเกลารากฟันใต้เหงือกเเล้วใช้สารละลายเตตราไซคลินไฮโดรคลอไรด์ ความเข้มข้น 100 ม.ก/ม.ล.(หรือ กลุ่ม TC 10)เเละความเข้มข้น 50 ม.ก/ม.ล(หรือ กลุ่ม TC 5)ส่วนกลุ่มควบคุม คือกลุ่มขูดหินน้ำลายเเละเกลารากฟันใต้เหงือก (หรือกลุ่ม SEP) เเละกลุ่มขูดหินน้ำลายเเละเกลารากฟันใต้เหงือก เเล้วใช้สารละลายสีผสมอาหารทาร์ทราซินความเข้มข้น 0.4 ม.ก./ม.ล.(หรือกลุ่ม VEH) การใช้สารละลายฉีดล้างภายในพ็อกเก็ตหลังการขูดหินน้ำลายเเละเกลารากฟันใต้เหงือก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวม 4 ครั้ง ในเเต่ละช่วง โดยเว้นการทดลองทุก 10 สัปดาห์ ใหทดสอบผลการเปลี่ยนเเปลงความลึกของพ็อกเก็ตเเละปริมาณของเชื้อจุลชีพระหว่างกลุ่ม ด้วยวิธี General Linear Model สถิติ Repeated measures analysis of variance ส่วนการทดลองการเปลี่ยนเเปลงภายในกลุ่มของเเต่ละช่วงเวลาที่ต่างจากสัปดาห์ที่ 0 ใช้สถิติ paired t test ผลการวิเคราะห์สรุปว่า การเปลี่ยนเเปลงความลึกของพ็อกเก็ตในเเต่ละช่วงเวลาที่ต่างจากสัปดาห์ที่ 0 ของเเต่ละกลุ่ม เเตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) สำหรับผลการวิเคราะห์เชื้อจุลชีพเเสดงถึง อัตราร้อยละของเชื้อทรงกลมของเเต่ละกลุ่มเพิ่มจำนวน เเละอัตราร้อยละของเชื้อสไปโรคีตส์ของเเต่ละกลุ่มลดจำนวนในทุกช่วงเวลา เเตกต่างจากสัปดาห์ที่ 0 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( P<0.05) ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างค่าร้อยละที่เพื่มของเชื้อทรงกลม กับความลึกของพ็อกเก็ตที่ลดของเเต่ละช่วงเวลา เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ 0 มีความสำพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p< 0.05) พบได้ในกลุ่ม TC 5 เพียงกลุ่มเดียว ส่วนค่าร้อยละที่ลดของเชื้อสไปโรคีตส์ในกลุ่ม TC5 มีความสัมพันธ์กับความลึกของพ็อกเก็ตที่ลด เฉพาะในสัปดาห์ที่ 14 เพียงช่วงเวลาเดียวกันเท่านั้น เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ 0 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)

ผลกระทบต่อผิวรากฟันของหัวขูดหินน้ำลายสำหรับเครื่องอุลทราโซนิกส์ในการกำจัดหินน้ำลายใต้เหงือก

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลกระทบต่อผิวรากฟัน ภายหลังการใช้หัวขูดหินน้ำลายสำหรับเครืองอัลตราโซนิกส์ชนิดคล้ายเครื่องมือปริทันต์กับชนิดปลายโค้ง ในการกำจัดหินน้ำลายใต้เหงือกในฟันรากเดียวที่เป้นโรคปริทันต์อักเสบ เเละได้รับการวางเเผนการรักษาว่าจะถอน จำนวน 10 ซี่ โดยทำการขูดหินน้ำลายเฉพาะด้านใกล้กลาง เเละด้านใกลกลางของฟันเเต่ละซี่ ที่มีดรรชนีหินน้ำลายเเละความลึกของพ็อกเก็ตที่หยั่งได้เท่ากัน สุ่มตัวอย่างโดยเลือกตามลำดับเลขที่ของฟันเเต่ละด้านในซี่หนึ่งๆ เพื่อเลือกใช้หัวขูดหินน้ำลายชนิดคล้ายเครืองมือตรวจปริทันต์หรือชนิปลายโค้ง ขูดหินน้ำลายจนกระทั่งผิวรากฟันเรียบเเละสะอาดเมื่อตรวจด้วยเอกซพลอเรอร์ จากนั้นถอนฟันออก นำมาเตรียมเเละประเมินผลกระทบของเครื่องมือทั้งสองชนิดต่อผิวรากฟันด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็นตรอนชนิดส่องกราด ผลการศึกษาพบว่า ภายหลังการใช้หัวขูดหินน้ำลายสำหรับเครื่องอัลทราโซนิกส์ชนิดคล้ายมือตรวจปริทันต์ทำให้ผิวรากฟันมีค่ามัธยฐานของดรรชนีความขรุขระ เเละการสูญเสียเนื้อฟันเท่ากับ 2 ซื่งน้อยกว่าภายหลังการใช้หัวขูดหินน้ำลายชนิดปลายโค้ง ที่มีค่ามัธยฐานความขรุขระเเละการสูญเสียเนื้อฟันเท่ากับ 3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.028) สรุปได้ว่า หัวขูดหินน้ำลายทั้งสองชนิดทำให้เกิดอันตรายต่อผิวรากฟันโดยหัวขูดหินน้ำลายชนิดคล้ายเครื่องมือตรวจปริทันต์ทำให้เกิดอันตรายต่อผิวรากฟันน้องกว่าหัวขูดหินน้ำลายชนิดปลายโค้งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05)

ผลของเตตราไซคลินไฮโดรคลอไรด์และกรดซิตริกต่อผิวรากฟัน: ศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศ์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราด

การวิจัยนี้ศึกษาผลของเตตราไซคลินไฮโดรคลอไรด์ เเละกรดซิตริกที่มีต่อผิวรากฟัน โดยเเบ่งการศึกษาเป็น 2 ตอนเเรก ศึกษาผลของการทาสารละลายเตตราไซคลินไฮโดรคลอไรด์ ความเข้มข้น 50,100,เเละ 150 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร เปรียบเทียบกับกรดซิตริกอิ่มตัว ที่มีต่อชิ้นเนื้อฟันบริเวณรากโดยเตรียมจากฟันซี่เดียวกันที่ถอนจากผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบเเละขูดหินน้ำลาย จำนวน 10 ซี่ เเละฟันอีก 2 ซี่เป็นกลุ่มควบคุมที่ท่าด้วยน้ำกลั่น หลังจากทาสารทั้ง 4 ชนิดเเละน้ำกลั่นบนชิ้นเนื้อฟันเเล้วนำไปผ่านกระบวนการเตรียมตัวอย่างเพื่อศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราด เปรียบเทียบจำนวนรูเปิด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง เเละผลรวมพื้นที่หน้าตัดของท่อเปิดท่อเนื้อฟัน โดยการวิเคราะห์ความเเปรปรวนเเบบเเจงทางเดียว เเละเเบบทดสอบของเชฟเฟ ผลของการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มที่ทาเตตราไซคลินไฮโดรคลอไรด์ ความเข้มข้น 100 เเละ 150 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร เเละกลุ่มที่ทากรดซิตริกอิ่มตัว ให้ผลไม่เเตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ตอนที่ 2 เลือกศึกษาผลของการทาเตตราไซคลินไฮโดรคลอไรด์ ความเข้นข้น 100เเละ 150 มิลิกรัม/มิลลิลิตร เปรียบเทียบกับการทากรดซิตริกอื่มตัว เเละทาน้ำกลั่นเป็นกลุ่มควบคุม โดยการสุ่มทาบนผิวรากฟัน ซึ่งเตรียมจากฟันซี่เดียงกันที่เป็นโรคปริทันต์ หลังจากการขูดหินน้ำลายเเละการเกลารากฟันให้เรียบเเล้ว จำนวน 10 ซี่ ผลการศึกษาพบว่า เตตราไซคลินไฮโดรคลอไรด์ ความเข้มข้น 100 เเละ 150 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร เเละกรดซิตริกอิ่มตัว ทำให้เกิดการเปลี่ยนเเปลงในลักษณะเคียวกัน โดยพบลักษณะรากฟัน 2 เเบบ คือบริเวณที่มีเคลือบรากฟันเหลืออยู่ เเละบริเวณที่มีเนื้อฟันเผย โดยบริเวณที่มีเคลือบรากฟันเหลืออยู่จะพบลักณะที่เเตกต่างกันออกไปคือ บางบริเวณมีลักษณะเป็นรอยเเยก บางบริเวณมีลักษณะเป็นตุ่มนูนซึ่งเป็นส่วนที่เหลืออยู่ของเส้นใยชาร์เปย์ โดยเห็นเส้นใยคอลลาเจนรอบๆ ตุ่มนูนชัดเจน ส่วนบริเวณที่มีเนื้อฟันเผยพบเส้นใยคอลลาเจนเส้นสั้นๆ เเละรูเปิดท่อเนื้อฟันขนาดเล็ก กระจายอยู่ทั่วไป ผลการวิจัยเเสดงให้เห็นว่า เตตราไซคลินไฮโดรคลอไรด์ ความเข้มข้น 100 เเละ 150 มิลิกรัม/มิลลิลิตร สามารถละลายเเร่ธาตุเเละเปลี่ยนเเปลงผิวรากฟันไม่เเตกต่างจากการทากรดซิตริกอิ่มตัว

ความเข้มข้นของยาเททระไซคลีนไฮโดรคลอไรด์ในน้ำเหลืองเหงือกหลังการฉีดล้างยาในพ็อกเก็ต

วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อเปรียบเทียบความเข้มข้นของยาเททระไซคลีนไฮโดรคลอไรด์ในน้ำเหลืองเหงือก ที่สูงพอจะยับยั้งการเจริญของจุลชีพ หลังจากฉีดล้างในพ็อกเก็ตเพียงครั้งเดียว ด้วยสารละลายที่มีความเข้มข้นร้อยละ 5 เเละความเข้มข้นร้อยละ 10 ตามเวลาที่กำหนด ผู้รับการทดลองเป็นผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบเรื้อรัง 45 คน ซุ่งไม่มีโรคทางระบบ ได้รับการขูดหินน้ำลายเเละเกลารากฟันทั้งปาก เเละไม่ได้รับประทันยาเททระไซคลีนในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ตำเเหน่งด้านฟันที่ใช้ศึกษา คือ ด้านฟันที่มีพ็อกเก็ต 5-7 มิลลิเมตร (ความลึกเฉลี่ย 5.11 มิลลิเมตร) จำนวน 200 ตำเเหน่ง เเล้วเเบ่งกลุ่มๆละ 100 ตำเเหน่ง เพื่อที่จะฉีดล้างใน พ็อกเก็ตด้วยสารละลายเททระไซคลีนไฮโดรคลอไรด์ ที่มีความเข้มข้นร้อยละ 5 เเละความเข้มข้นร้อยละ 10 ในปริมาตร 10 มิลลิเมตร ใช้เวลา 5 นาทีต่อตำเเหน่ง หลังจากนั้น ใช้กระดาษกรองเก็บน้ำเหลืองเหลือกในเเต่ละพ็อกเก็ตตามเวลาที่กำหนด คือ 1 ชั่วโมงหลังจากฉีดล้าง 1 วันหลังจากการฉีดล้าง 3 วันหลังจากการฉีดล้าง 5 วันหลังจากการฉีดล้าง เเละ 7 วันหลังการฉีดล้าง เเล้ววัดความเข้มข้นของยาเททระไซคลีนไฮโดรคลอไรด์ที่คงอยู่ ด้วยเครื่องโครมาโทกราฟีของเหลวเเบบสมรรถนะสูง ผลการวิจัยเกี่ยวกับความเข้มข้นของยาที่เหลืออยู่ในช่วงเวลา 1 ชั่วโมงหลังการฉีดล้าง 1 วันหลังการฉีดล้าง 3 วันหลังการฉีดล้าง เเละ 5 วันหลังการฉีดล้าง ปรากฏว่าความเข้มข้นของยาเททระไซคลีนไฮโดรคลอไร์ในน้ำเหลืองเหงือกทั้งสองกลุ่ม ไม่มีความเเตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) เเละยามีความเข้มข้นสูงพอที่จะยับยั้งการเจริญของจุลชีพ (>/ 8 ไมโครกรัม / มิลลิเมตร) สำหรับในช่วงเวลา 7 วันหลังการฉีดล้าง ความเข้มข้นของยาเททระไซคลีนไฮโดรคลอไรด์ในน้ำเหลืองเหงือกทั้งสองกลุ่มเเตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยพบว่ากลุ่มสารละลายที่มีความเข้มข้นร้อยละ 10 มียาเททระไซคลีนไฮโดรคลอไรด์ในน้ำเหลืองเหงือก 10.13+- 1.77 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สูงกว่ากลุ่มสารละลายที่มีความเข้มข้นร้อยละ 5 มียาเททระไซคลีนไฮโดรคลอไรด์ในน้ำเหลืองเหงือก 5.51+- 0.84 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร

ความยาวของลำตัวรากฟันเเละความกว้างของทางเข้ารากฟันในฟันกรามเเท้ซี่ที่1เเละฟันเเท้ซี่ที่2ของประชากรที่อยู่ในประเทศไทย:การวัดโดยใช้ระบบวิเคราะห์ภาพด้วยคอมพิวเตอร

วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ เพื่อศึกษาความยาวของลำตัวรากฟัน เเละความกว้างของทางเข้าช่องรากฟันกรามเเท้ ตัวอย่างที่ใช้ศึกษาเป็นฟันกรามเเท้บนซี่ที่ 1 เเละซี่ที่ 2 อย่างละ 100ซี่ ถ่ายภาพลำตัวรากฟันเเละทางเข้าช่องรากฟันด้วยกล้องดิจิทอล เเล้ววัดความยาวของลำตัวรากฟัน เเละความกว้างของทางเข้าช่องรากฟัน โดยใช้ระบบวิเคราะห์ภาพด้วยคอมพิวเตอร์ จากภาพถ่ายด้วยกล้องดิจิทอล เเละนำมาคำนวนหาความยาวของลำตัวรากฟัน เเละความกว้างของทางเข้าช่องรากฟันด้วยสถิติเชิงพรรณนา เเละเปรียบเทียบความยาวของลำตัวรากฟัน เเละความกว้างของทางเข้าช่องรากฟันในฟันกรามเเท้ซี่ที่ 1เเละฟันกรามเเท้ซี่ที่ 2 โดยใช้สถิติ z-test ผลงานวิจัยพบว่า ความยาวเฉลี่ยของลำตัวรากฟันในฟันกรามเเท้บนซี่ที่ 1ทางด้านใกล้เเก้มเท่ากับ 4.27+- 0.85 ม.ม. ด้านใกล้กลางเท่ากับ 4.23+- 0.81 ม.ม. เเละด้านไกลกลางเท่ากับ 4.60+-0.93 ม.ม. ความยาวเฉลี่ยของลำตัวรากฟันในฟันกรามเเท้ซี่ที่ 2 ด้านใกล้เเก้มเท่ากับ 4.22+-0.77ม.ม. ด้านใกล้กลางเท่ากับ 4.47+-0.73 ม.ม. เเละด้านไกลกลางเท่ากับ 3.22+-0.62 ม.ม. เเละด้านใกล้ลิ้นเท่ากับ 4.25+-0.62 ม.ม. ส่วนฟันเเท้ล่างซี่ที่ 2 มีความยาวเฉลี่ยของลำตัวรากฟันทางด้านใกล้เเก้มเท่ากับ 3.35+-0.68 ม.ม. เเละด้านใกล้ลิ้นเท่ากับ 4.30+-0.37 ม.ม. ตามลำดับ ความกว้างเฉลี่ยของทางเข้าช่องรากฟันในฟันกรามเเท้บนซี่ที่ 1 ทางด้านใกล้เเก้มเท่ากับ 3.78+-0.32 ม.ม. ด้านใกล้กลางเท่ากับ 1.15+-0.39 ม.ม. เเละด้านไกลกลางเท่ากับ 1.02+-0.43 ม.ม. ความกว้างเฉลี่ยของทางเข้าช่องรากฟันทางด้านใกล้เเก้มของฟันกรามเเท้บนซี่ที่ 2 เท่ากับ 1.33+- 0.37 ม.ม. ส่วนทางด้านใกล้เเก้มของฟันกรามเเท้ล่างซี่ที่ 2 มีความกว้างเฉลี่ยเท่ากับ 0.84+-0.29 ม.ม. เเละด้านใกล้ลิ้นเท่ากับ 0.96+-0.37 ตามลำดับ ผลสรุปว่า ความยาวเฉลี่ยของลำตัวรากฟันทางด้านใกล้กลางของฟันเเท้บนซี่ที่ 2จะยาวกว่าฟันเเท้บนซี่ที่ 1 ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ส่วนความกว้างเฉลี่ยของทางเข้าช่องรากฟันในฟันกรามเเท้บนซี่ที่ 1 เเละซี่ที่ 2 ทางด้านใกล้เเก้มจะเเคบกว่าด้านใกล้กลางเเละด้านไกลกลางที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ในขณะที่ความกว้างเฉลี่ยของทางเข้าช่องรากฟันทางด้านใกล้เเก้มในฟันกรามเเท้ล่างซี่ที่ 1 เเละซี่ที่ 2 จะเเคบกว่าด้านใกล้ลิ้นที่ระดับนัยสำคัญ 0.05